ข่าวสาร

ข่าว กิจกรรม และหลักสูตรอบรม ประกาศสำคัญที่ทุกท่านสนใจ

กรมการค้าต่างประเทศ รับลูก “จุรินทร์” เตรียมลุยจัดกิจกรรมเพิ่มยอดการค้าชายแดน

01 Aug 2019
 213

กรมการค้าต่างประเทศ รับลูก “จุรินทร์” เตรียมลุยจัดกิจกรรมเพิ่มยอดการค้าชายแดน

                    กรมการค้าต่างประเทศเผยการค้าชายแดน-ผ่านแดน 6 เดือน ปี 62 ทำได้มูลค่า 686,437.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.16% มาเลเซียยังเป็นคู่ค้าชายแดนอันดับหนึ่ง ส่วนการค้าผ่านแดน จีนตอนใต้มีมูลค่าสูงสุด เพิ่มขึ้นถึง 39.45% พร้อมรับลูก “จุรินทร์” สั่งขับเคลื่อนการค้าชายแดน เตรียมลงพื้นที่จัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจชายแดน หวังดันการค้าชายแดน-ผ่านแดนครึ่งปีหลังสดใส ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

                    นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย 6 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 686,437.09 ล้านบาท ขยายตัว 1.16% เป็นการส่งออก 381,705.22 ล้านบาท ลดลง 0.98% และการนำเข้า 304,731.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.97% เกินดุลการค้า 76,973.36 ล้านบาท โดยแยกเป็นการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ มูลค่า 553,422.58 ล้านบาท ลดลง 0.04% เป็นการส่งออก 312,223.55 ล้านบาท ลดลง 3.96% นำเข้า 241,199.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.55% เกินดุลการค้า 71,024.52ล้านบาท และการค้าผ่านแดนกับ 3 ประเทศ มูลค่า 133,014.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.46% เป็นการส่งออก 69,481.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.08% นำเข้า 63,532.84 ล้านบาท ลดลง 1.61%  เกินดุลการค้า 5,948.84 ล้านบาท

                    ทั้งนี้ การค้าชายแดน มาเลเซียยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง มูลค่า 271,602.50 ล้านบาท ลดลง 2.43% เป็นการส่งออก 129,186.33 ล้านบาท ลดลง 10.99% นำเข้า 142,416.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.90% รองลงมา คือ เมียนมา มูลค่า 102,202.74 ล้านบาท สปป.ลาว มูลค่า 99,396.11 ล้านบาท และกัมพูชา มูลค่า 80,221.23 ล้านบาท

                    ขณะที่การค้าผ่านแดน จีนตอนใต้ยังเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง มูลค่า 59,540.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.45% เป็นการส่งออก 23,942.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.08% นำเข้า 35,598.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.58% รองลงมาคือ เวียดนาม มูลค่า 38,565.01 ล้านบาท และสิงคโปร์ มูลค่า 34,908.67 ล้านบาท

                    นายอดุลย์กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการค้าชายแดนและผ่านแดน มาจากปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่า รวมถึงความไม่มีเสถียรภาพของค่าเงินของแต่ละประเทศในภูมิภาค ปัญหาสงครามการค้าที่ยังไม่มีข้อยุติ เริ่มเห็นผลชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่ไทยเป็นห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และยังมีปัญหาความขัดแย้งของประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่กระทบต่อการค้าโลก ส่งผลให้เกิดความกังวลของผู้บริโภคและนักลงทุนทั่วโลกเพิ่มขึ้น

                    สำหรับสถานการณ์การค้าชายแดนด้านมาเลเซีย การส่งออก หดตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้ายางพารา/ผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งได้รับปัจจัยกดดันจากค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า และค่าเงินริงกิตอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง กอปรกับความต้องการนำเข้ายางธรรมชาติจากต่างประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง รวมถึงสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2562 ได้มีการทดลองเปิดด่านฯ 24 ชั่วโมง บริเวณพรมแดนไทย-มาเลเซีย อ.สะเดา-บูกิตกายูฮีตัม รัฐเกดะห์ มาเลเซีย มีระยะเวลาทดลอง 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. - 16 ก.ย. 2562 ซึ่งจะครอบคลุมเฉพาะการขนส่งสินค้าและพัสดุ โดยประเภทรถ จะเป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่และรถพ่วง โดยคาดว่าการขยายเวลาทำการดังกล่าว จะส่งผลให้ปริมาณการค้าและการขนส่งข้ามแดนขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ สปป.ลาว จากการที่จีนหันมาลงทุนใน สปป.ลาว มากขึ้น ทำให้มูลค่าส่งออกชายแดนไทยยังคงชะลอตัว อาทิ น้ำมันดีเซล/น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์ฯ รวมถึงผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรอื่นๆ รวมถึงปัญหาค่าเงินกีบอ่อนค่าลง ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของคนลาวเป็นจำนวนมาก ทำให้การนำเข้าสินค้ารวมถึงการข้ามมาท่องเที่ยวและซื้อของใช้ในฝั่งไทยตามเมืองชายแดนเกิดการชะลอตัวอย่างมาก ด้านเมียนมา การส่งออกยังคงมีการชะลอตัวเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าน้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงปัญหาค่าเงินจ๊าตอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศเมียนมาสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทยน้อยลงไป สำหรับกัมพูชา สถานการณ์การค้ายังคงสดใส มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รถยนต์ อุปกรณ์ฯ เป็นต้น นอกจากนี้ ในปี 2562 กัมพูชาได้มีการลงทุนในภาคการก่อสร้างเพิ่มมากขึ้นโดยการก่อสร้างส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น กรุงพนมเปญ และพระสีหนุ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ศักยภาพที่ทางรัฐบาลกัมพูชาให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป นับเป็นโอกาสอันดีที่ไทย จะสามารถขยายการค้าการลงทุน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าวัสดุก่อสร้าง อาทิ เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ก่อสร้าง และวัสดุต่างๆ รวมทั้งสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น

                    อย่างไรก็ตาม กรมฯ คาดว่าสถานการณ์การค้าชายแดน-ผ่านแดนของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง จะยังคงสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากการส่งเสริมการค้าชายแดนยังคงเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยล่าสุดรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เร่งลงพื้นที่ร่วมประชุมปรึกษาหารือแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2562 ณ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จังหวัดยะลา เพื่อให้ทุกภาคส่วนรายงานผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รับทราบปัญหา/อุปสรรคและข้อเสนอแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศเร่งส่งเสริมการค้าชายแดน พร้อมแนวทางแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังมีกำหนดเดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในครั้งต่อไปประมาณเดือนส.ค. 2562

                    นอกจากนี้ กรมฯ ยังเดินหน้าโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (Young Entrepreneur Network Development Program : YEN-D Program) ได้แก่ YEN-D Frontier รุ่นไทย-เวียดนาม ระหว่างวันที่ 22-27 ก.ค. 2562 ณ  โรงแรม ยู โฮม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เพื่อสร้างความสัมพันธ์จนเกิดความสนิทสนมตามแนวคิด“ความสัมพันธ์แบบเพื่อนมาก่อนแล้วธุรกิจจะตามมาเอง” นอกจากนี้จะนำกลุ่ม YEN-D Program ไปสร้างความสัมพันธ์และเจรจาจับคู่ธุรกิจ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ระหว่างวันที่ 13-15 ก.ย. 2562 และกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย. 2562 รวมทั้ง กรมฯ จะจัดงานมหกรรมการค้าชายแดน และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มุกดาหาร-สะหวันนะเขต “สานสัมพันธ์การค้า เชื่อมโยงสองฝั่งโขง” ในช่วงเดือน ก.ย. 2562 ณ จังหวัดมุกดาหาร  ซึ่งจะนำทัพผู้ประกอบการทั้งไทยและ สปป.ลาว จัดแสดงและจำหน่ายสินค้าของทั้ง 2 ประเทศ พร้อมจัดสัมมนาให้ความรู้ผู้ประกอบการไทยทั้ง SMEs/Start up และจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการของทั้ง 2 ประเทศ และยังจัดประชุมหารือภาครัฐ-เอกชนของ ทั้ง 2 ประเทศ เพื่อร่วมกันส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างกันด้วย

ที่มา :  www.dft.go.th

แสดงความคิดเห็น

กรุณาคลิก เข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สมัครสมาชิกเว็บไซต์ เพื่อการใช้งานที่ดีเยี่ยม

สมาชิกเว็บไซต์สามารถใช้งานฟีเจอร์ของเว็บไซต์ได้อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสมัครเรียนกับ iTi การส่งสมัครงาน การใช้ระบบพิกัด/คำวินิจฉัย การรับช่าวสาร อ่านเพิ่มเติม