e-Payment

ธุรกิจตัวแทนออกของ หรือที่รู้จักกันดีว่า “ชิปปิ้ง”ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเจ้าของสินค้าในการดำเนินพิธีการศุลกากรนำเข้าและส่งออก มีลักษณะการทำงานที่หลากหลาย ตั้งแต่การจัดทำใบขนสินค้าและเอกสารประกอบเพื่อยื่นต่อกรมศุลกากรตามระเบียบ งานภาคสนามในเขตท่าเรือ สนามบินเพื่อตรวจปล่อยสินค้าแล้วนำขึ้นรถบรรทุกไปส่งยังสถานที่ที่ลูกค้ากำหนด ในกระบวนการออกของแต่ละขั้นตอน ตัวแทนออกของต้องติดต่อประสานงานกับหลายหน่วยงาน มีทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน อาทิเช่น กรมศุลกากร ท่าเรือ ตัวแทนสายเรือ รถบรรทุก บริษัทประกันภัย แรงงานขนถ่ายสินค้า ฯลฯ ตัวแทนออกของทำหน้าที่ชำระค่าใช้จ่ายที่มีการเรียกเก็บแทนเจ้าของสินค้า ได้แก่ ค่าธรรมเนียม ค่าขนส่ง ค่าฝากเก็บสินค้า ค่าขนถ่าย และค่าใช้จ่ายอื่นๆเพื่อให้สามารถนำของออกจากท่าเรือได้ ส่วนใหญ่จะชำระด้วยเงินสดหรือแคชเชียร์เช็ค ซึ่งมีต้นทุนในการเบิกถอน เก็บรักษา และนำฝากที่ธนาคาร เสียเวลารอคิว ค่าเดินทาง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการทุจริตฉ้อฉล หรือโจรกรรมอีกด้วย

พฤติกรรมการใช้เงินสดที่คุ้นเคยกันมานาน

วัตถุประสงค์

สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย จึงมีนโยบายสนับสนุนระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) และได้ผลักดันให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออก รับชำระเงินด้วย ระบบ e-Payment โดยมีเป้าหมายเพื่อ

  • • ลดต้นทุนการใช้เงินสดและค่าธ.แคชเชียร์เช็ค
  • • ลดการเดินทางไปธนาคาร
  • • ลดเวลาที่สูญเปล่าไปในการตรวจนับเงินสดทั้งผู้จ่ายและผู้รับ และการรอเคลียริ่งแคชเชียร์เช็คข้ามวัน
  • • ลดจำนวนพนักงานรับชำระเงิน/ดูแลกระแสเงินสด และพนักงานวิ่งเอกสาร
  • • ลดความเสี่ยงของโอกาสในการทุจริตฉ้อโกงอันเนื่องมาจากการถือเงินสด
  • • ลดขั้นตอนและประหยัดเวลา ทำให้กระบวนการนำเข้ารวดเร็วขึ้น
  • • สนองนโยบาย National e-Payment ของรัฐบาล

ภาพรวมโครงการ National e-Payment

โครงการ“ชำระค่าใช้จ่ายนำเข้าด้วยบัตรเดบิต”

ที่สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่ม ในปี 2555โดยได้เสนอแนวความคิดต่อ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ซึ่งมีบัตรเดบิตมาร่วมโครงการ เพื่อลดการใช้เงินสดและเช็คในการชำระค่าภาระ ค่าธรรมเนียม ค่าฝากเก็บสินค้า และค่าใช้จ่ายในการนำเข้าอื่นๆ บัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทยได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ ให้ผู้ถือบัตรซึ่งเป็นนิติบุคคล สามารถทำบัตรเดบิต KTB e-Logistics Card ได้หลายใบเพื่อให้พนักงานของตนนำไปใช้ชำระที่หน่วยงานเฉพาะที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการอื่นๆได้ จึงมีความปลอดภัยสูง ช่วยให้ตัวแทนออกของ และหน่วยงานที่รับชำระค่าภาระ ค่าฝากเก็บสินค้า ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายในการนำเข้าอื่นๆลดการใช้เงินสด ลดการเดินทางไปธนาคารเพื่อฝากถอนเงินสดหรือทำแคชเชียร์เช็ค ทำให้ประหยัดเวลา แรงงาน และค่าใช้จ่ายไปได้มาก ส่งผลทำให้การออกของได้รวดเร็วขึ้น

การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) เป็นหน่วยงานแรกที่ได้ตอบรับเข้าร่วมโครงการและลงนามบันทึกความเข้าใจกับธนาคารกรุงไทย เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2555 สมาคมฯได้จัดงานเปิดตัวโครงการนี้อย่างเป็นทางการในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 เพื่อรณรงค์ให้สมาชิกเข้าร่วมโครงการ ในงานนี้ ผู้บริหารระดับสูงของทั้งสามหน่วยงานมาร่วมเปิดตัว คือ คุณธีรินทร์ เต่าทอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย, ม.ล.พรพรหม เทวกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย และนายยรรยง ตั้งจิตต์กุล นายกสมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยสมาชิกที่ร่วมนำร่อง 9 บริษัท

ต่อมา ได้ขยายขอบเขตการใช้บัตรไปยังหน่วยงานของกรมศุลกากร ท่าเรือเอกชนทั้งในกรุงเทพและปริมณฑล ท่าเรือแหลมฉบัง(เฉพาะท่าที่เข้าร่วม) ICDลาดกระบัง(เฉพาะท่าที่เข้าร่วม) คลังสินค้าการบินไทย และคลังBFS ที่สนามบินสุวรรณภูมิ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้สามารถใช้บัตรได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

สมัครสมาชิกเว็บไซต์ เพื่อการใช้งานที่ดีเยี่ยม

สมาชิกเว็บไซต์สามารถใช้งานฟีเจอร์ของเว็บไซต์ได้อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสมัครเรียนกับ iTi การส่งสมัครงาน การใช้ระบบพิกัด/คำวินิจฉัย การรับช่าวสาร อ่านเพิ่มเติม